Sporotrichosis โรคติดคนแต่รักษาหายได้คะ❤️

Sporotrichosis เป็นโรคจากสัตว์สู่คนซึ่งเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดจากสัตว์สู่คนได้ ตัวแทนของโรคนี้คือเชื้อราซึ่งมักใช้ แผลที่ผิวหนัง เป็นวิธีการเข้าสู่ร่างกาย โรคร้ายนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสัตว์หลายชนิด รวมทั้งสุนัขและแมว! เนื่องจากสามารถถ่ายทอดสู่มนุษย์ได้จึงจำเป็นต้องระมัดระวัง ด้วยเหตุนี้ทางคลินิกจึงได้เขียนบทความนี้พร้อมกับทุกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้ sporotrichosis ในสุนัขและแมว: อาการสาเหตุและการรักษา.

sporotrichosis คืออะไร
Sporotrichosis เป็นกลากชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อรา Sporotrix Schenkii สามารถสร้างรอยโรคบนผิวหนังหรือแม้กระทั่งในอวัยวะภายใน เป็นเรื่องปกติในแมวมากกว่าในสุนัข ในแมวที่เรามักจะสังเกตได้ แผลที่ผิวหนังลึกส่วนใหญ่มักมีหนองซึ่งไม่หายขาด โรคนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและทำให้แมวจามหลายครั้ง

น้องเหมียว เหมียวป่วยเป็นเชื้อรา Sporotix


เชื้อราที่ทำให้เกิด sporotrichosis หรือที่เรียกว่า โรคเชื้อรากุหลาบมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในธรรมชาติ จึงไม่ยากที่สัตว์เลี้ยงของคุณจะสัมผัสได้ แมวส่วนใหญ่ที่สามารถเข้าถึงภายนอกสามารถสัมผัสกับเชื้อรานี้ได้บนพื้นดิน มูลนกพิราบและในสวนบ่อยๆ
เชื้อราชนิดนี้ชอบที่จะผสมพันธุ์ในที่อบอุ่นและชื้นเป็นพิเศษ และนั่นเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยใน ภูมิอากาศแบบเขตร้อน. วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันเชื้อราชนิดนี้คือ รักษาสถานที่ให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะกระบะทรายแมวของคุณ
แนวการรักษา คือการใช้ยาฆ่าเชื้อราหลายกลุ่มร่วมกับยาทาภายนอก และต้องอยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์คะ เนื่องจากเชื้อราตัวนี้ค่อนข้างทนและใช้เวลารักษาค่อนข้างนาน และที่สำคัญเป็นโรคที่ติดคนได้ดังนั้นต้องสวมถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสแผลโรคนี้ตลอดนะคะ
หากเจ้าของมีสัตว์เลี้ยงป่วยเป็นโรคนี้ สามารถพามารับการรักษากับคุณหมอแผนกอายุรกรรม โรคผิวหนังได้นะคะ ยินดีให้การรักษาคะ

วงรอบการเป็นสัดในแมว

น.สพ. คมกฤช ลออธนกุล (สัตวแพทย์ประจำคลินิกประดิพัทธ์สัตวแพทย์)

วงรอบการเป็นสัดในแมว


แมวส่วนมากเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 5 – 9 เดือน แต่อย่างไรตามช่วงอายุที่แมวสามารถเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์นั้นสามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 3.5 เดือน จนถึง 18 เดือน1 อายุที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์นี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ฤดูกาล ภาวะร่างกายของแมว น้ำหนักของแมว และสายพันธุ์ของแมว ทั้งนี้พบว่าแมวสายพันธุ์ขนสั้นมักเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เร็วกว่าแมวสายพันธุ์ขนยาว แมวสายพันธุ์เปอร์เซีย (รวมถึงพันธุ์อื่นที่ใกล้เคียง) สามารถเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ช้ากว่า (1.5 – 3 ปี) นอกจากนี้ยังพบว่าแมวสายพันธุ์ขนยาวมักเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่อน้ำหนักประมาณ 80% ของน้ำหนักตัวตอนโต ในขณะที่แมวสายพันธุ์ขนสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมวสายพันธุ์ Siamese และ Burmese สามารถเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ได้ขณะที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า



การผสมพันธุ์ของแมวนั้นขึ้นกับฤดูกาล (seasonal breeder) โดยแมวจะมีการผสมพันธุ์ในฤดูกาลที่มีช่วงแสงของวันที่ยาว (long-day breeder) ดังนั้นแล้วแมวที่อาศัยอยู่บริเวณซีกโลกเหนือจะมีการผสมพันธุ์ตามฤดูกาลที่เด่นชัด กล่าวคือ บริเวณซีกโลกเหนือนั้นจะมีช่วงแสงของวันในแต่ละฤดูกาลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนนั้นกลางวันจะยาวนาน (ช่วงแสงของวันจะยาวนานตามไปด้วย) แมวจึงเข้าสู่วงรอบของการเป็นสัด แต่ในทางตรงกันข้ามในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนเป็นต้นไปช่วงกลางวันนั้นจะสั้นลงมาก (ช่วงแสงของวันจะสั้นลงตามไปด้วย) แมวจึงไม่เข้าสู่วงรอบของการเป็นสัดเลย สำหรับแมวที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีช่วงแสงของวันยาวนานเกือบตลอดทั้งปี เช่น ประเทศไทย แมวจึงมักจะเข้าสู่วงรอบของการเป็นสัดได้ต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งปี



ในประเทศไทยน้องเหมียวมักจะมีการติดสัดตลอดทั้งปี โดยสามารถแบ่งได้เป็น 5 ระยะและมักจะแสดงพฤติกรรมที่ทำให้รู้ได้เลยว่าน้องเหมียวเริ่มติดสัดแล้ว ดังนี้
1 ระยะก่อนติดสัด ภายใน 2 วันก่อนติดสัด น้องเหหมียวจะมีพฤติกรรมในการใช้หัว หรือ คอไปถูกับสิ่งต่าง ๆ ในบริเวณบ้าน เช่น ถูประตู ถูขาเก้าอี้ เป็นต้น ในช่วงนี้จะยังไม่พบว่าอวัยวะเพศของน้องบวม หรือ มีเลือดออกนะ ซึ่งต่างกับน้องหมามาก
2 ระยะเป็นสัด จะใช้เวลาในการเกิดระยะนี้อยู่ที่ 7 – 9 วัน เลยทีเดียว ซึ่งน้องเหมียวที่เป็นเพศเมียจะเริ่มแสดงอาการร้องเรียกหาตัวผู้ จะชอบนอนหมอบติดกับพื้นและยกก้นขึ้น
3 ระยะพักก่อนที่จะสัดจะกลับมา มีระยะเวลา 8 – 10 วัน โดยน้องเหมียวจะมีพฤติกรรมที่ปกติ ไม่แสดงอาการอื่นใด
4 ระยะหลังผสม ในส่วนของน้องเหมียวที่มีการตกไข่ และจะตั้งท้องเป็นระยะเวลาประมาณ 60 วัน ส่วนที่ต้องท้องจะเรียกว่า “ท้องเทียม” มีระยะเวลา 40 วัน และหลังจากนั้นก็จะกลับมาเป็นปกติ และกลับเข้าสู่ภาวะติดสัดรอบต่อไป
5 ระยะพักภาวะเป็นสัด ในช่วงนี้แมวจะไม่มีพฤติกรรมต้องการผสมพันธุ์นานมาก เป็นเวลา 30 – 90 วันเลยทีเดียว


โรค Cryptococcosis ในแมว

(สพ.ญ. ณิชรัตน์ ลาภพัฒนา คุณหมอประจำคลินิกประดิพัทธ์สัตวแพทย์)

โรค Cryptococcosis ในแมว

โรคคริปโตคอกโคสิสเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Cryptococcus neoformans พบได้ทั่วโลก ส่วนใหญ่เชื้อเป็นอันตรายต่อแมวและคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การติดเชื้อก่อให้เกิดอาการแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เกี่ยวข้อง

 สัตว์ชนิดใดเป็นโรคคริปโตคอกโคสิสได้บ้าง

ส่วนใหญ่จะพบโรคนี้ในแมว แต่มีรายงานการพบโรคพบในโค สุนัข เฟอร์เร็ต หนูตะเภา ม้า แกะ แพะ สุกร ลามะ และสัตว์ชนิดอื่นด้วย

เชื้อราชนิดนี้สามารถพบได้ในอุจจาระของนกโดยเฉพาะนกพิราบ และยังพบในนกคานารี นกหงษ์หยก นกแก้ว นกกระตั้ว นกแขกเต้า ไก่ นกกระจอก นกเอี้ยง นกเขา นกเหล่านี้มีเชื้อราในร่างกายแต่จะไม่แสดงอาการป่วย

 สัตว์ติดโรคคริปโตคอกโคสิสได้อย่างไร

สัตว์สามารถติดโรคนี้ได้จากการสัมผัสกับเชื้อราในสิ่งแวดล้อม เชื้อราคริปโตคอกคัสพบได้ทั่วไปในดิน หรืออยู่ในอุจจาระของนกพิราบ การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการหายใจเอาเชื้อเข้าไป

โรคคริปโตคอกโคสิสมีผลต่อสัตว์อย่างไร

อาการป่วยในสัตว์แตกต่างกันไปขึ้นอยู่ระบบอวัยวะที่ติดเชื้อ เชื้ออาจทำให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจ ผิวหนังหรือการติดเชื้อที่สมองหรือตา อาการที่พบในสัตว์เช่น จาม กรน มีสิ่งคัดหลั่งจากจมูก มีความผิดปกติที่ตา พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ซึม ควบคุมการทรงตัวไม่ได้ ชัก มีปัญหาในการเดิน และอาจเกิดเต้านมอักเสบในโคและแพะ

 คนติดโรคคริปโตคอกโคสิสได้หรือไม่

ส่วนใหญ่แล้วคนที่ติดโรคนี้คือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ การติดเชื้อมักเกิดจากจากการหายใจเอาดินที่มีเชื้อเข้าไป ไม่ใช่ได้รับเชื้อจากสัตว์โดยตรง เชื้อมักทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดและสมอง อาการที่พบเช่น มีไข้ ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก มีปัญหาด้านการมองเห็น มึนงง หากมีการติดเชื้อที่สมองอาจมีอาการสับสนและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

แนวการรักษาโรคนี้ คือ การใช้ยาฆ่าเชื้อรา และทายารักษาเชื้อรา ต้องใช้เวลารักษาหลายเดือน แต่อาการจะค่อยๆทุเลาลง นอกจากนี้ต้องมีการตรวจประเมินอาการ และตรวจสุขภาพ ตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อดูผลข้างเคียงของยาต่อระบบภายในร่างกายน้องแมวคะ

หากมีน้องแมวป่วยเป็นโรคนี้ หรือสงสัยแนะนำให้รีบมาตรวจวินิจฉัยเพื่อรีบทำการรักษาก่อนที่เชื้อจะดำเนินโรคลุกลามขึ้นนะคะ สามารถรับการตรวจรักษาที่คลินิกประดิพัทธ์สัตวแพทย์แผนกโรคผิวหนังได้คะ ยินดีให้คำแนะนำ และตรวจรักษาคะ

Update การรักษาโรคช่องท้องอักเสบในแมว

UPDATE แนวการรักษาโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมวล่าสุด (โดย น.สพ. คมกฤช ลออธนกุล คุณหมอประจำคลินิกประดิพัทธ์สัตวแพทย์ )


ก่อนอื่นมาทำความรู้จักโรคนี้กันก่อนครับ โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว หรือ Feline Infectious Peritonitis (FIP) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารของแมว มี 2 ลักษณะ คือ แบบมีของเหลวสะสม และแบบไม่มีของเหลวสะสม มีโอกาสติดเชื้อได้กับแมวทุกวัย แต่จะพบมากในแมวเด็ก แมวที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และบริเวณที่มีการเลี้ยงแมวรวมกันหนาแน่น รวมถึงความเครียดในแมวก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้
อาการโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมวและความรุนแรงของโรค
อาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว (FIP) ขึ้นอยู่ลักษณะของโรค 2 ลักษณะตามที่กล่าวไปข้างต้น คือ
– แมวที่เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แบบมีของเหลวสะสม จะมีอาการซึม เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย ตัวร้อน เหงือกอาจมีสีขาวซีดหรือสีเหลือง น้ำหนักลง ท้องขยายคล้ายแมวท้อง เมื่อคลำดูจะมีลักษณะเป็นก้อน นอกจากนี้อาจมีอาการหายใจลำบากหรือหายใจช้าร่วมด้วย
– แมวที่เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แบบไม่มีของเหลวสะสม หรือแบบแห้ง จะสังเกตได้ยากกว่า เนื่องจากไม่มีอาการที่แน่นอน เช่น มีไข้สูงเล็กน้อย ซึม เดินโซเซ และเบื่ออาหาร เหงือกมีสีเหลือง และหายใจลำบาก นอกจากนี้มีอาการตากระตุกหรือชักร่วมด้วย
ส่วนความรุนแรงของโรคนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสของแมวแต่ละตัว หากแมวที่ได้รับเชื้อโคโรนาไวรัส แต่ไม่มีการกลายพันธุ์ ก็อาจจะไม่เกิดโรค แต่สำหรับแมวที่เป็นโรค FIP และมีอาการของโรคแล้ว โดยทั่วไปพบว่าอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9 วัน หลังจากตรวจพบโรคครับ
แนวการรักษาล่าสุดปัจจุบัน ในปัจจุบันมียาฉีดชื่อตัวยา Remdesivir และยา GS-441524 ต้องให้ยาต่อเนื่องอย่างน้อย 84 วัน (ถ้าให้น้อยกว่านั้นมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่สูง) และต้องให้ยาและปรับยาพวกนี้ตามอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งแมวแต่ละตัวให้ยาด้วยขนาดไม่เท่ากันขึ้นกับดุลพินิจของสัตวแพทย์ที่รักษา และมีวิธีการใช้ และข้อห้ามใช้หลายข้อ แต่ประสิทธิภาพการรักษา ทำให้แมวที่ป่วยเป็นโรคนี้มีโอกาสรอดชีวิตถึง 80 เปอร์เซ็นต์
เจ้าของท่านใด มีน้องแมวป่วยโรคนี้ สามารถมาปรึกษาและรับการรักษาที่คลินิกประดิพัทธ์สัตวแพทย์แผนกโรคติดเชื้อ ได้นะครับ ยินดีให้คำปรึกษาและรักการรักษาครับผม

สารที่มีพิษต่อไตของสุนัขและแมว

น.สพ. คมกฤช ลออธนกุล (คุณหมอประจำคลินิกประดิพัทธ์สัตวแพทย์)

สารเคมีและยาบางชนิดอาจทำให้กระบวนการทำงานของไตเสียหาย
หรือทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงไตลดลง และอาจก่อให้เกิดการ
ทำลายของเซลล์ไต โดยบทความนี้จะยกตัวอย่างสารเคมีหรือยาบางชนิด
ที่มีพิษต่อไต อาจดูเป็นสิ่งใกล้ตัวที่เจ้าของอาจมองข้ามได้

1 องุ่น และ ลูกเกด


มีรายงานว่าผลองุ่น (ทั้งมีและไม่มีเมล็ด) ผิวเปลือกขององุ่น ลูกเกดและแบบแห้งขององุ่นล้วนมีพิษต่อไตในสุนัข สำหรับกลไกยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด ทั้งนี้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่านอกจากได้รับสารพิษจากองุ่นแล้ว สัตว์ยังมีโอกาสได้รับสารพิษ
จากการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา ยาฆ่าแมลง และโลหะหนักได้ด้วย
สำหรับปริมาณที่กินเข้าไปแล้วจะก่อให้เกิดความเป็นพิษนั้นมีหลายการศึกษา มีรายงานว่าปริมาณต่ำที่สุดที่มีโอกาสเกิดพิษกับไต คือ องุ่น 4-5 ลูกหรือ 2.8 กรัมต่อกิโลกรัม และลูกเกด 3 กรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ส่วนระดับความรุนแรงของอาการและระยะ
เวลาที่จะแสดงความผิดปกติให้เห็นขึ้นอยู่กับปริมาณที่กินและปัจจัยจากตัว
สัตว์เอง อาการที่ผิดปกติพบได้ตั้งแต่ 6 ถึง 12 ชั่วโมงหลังกิน ได้แก่ อาเจียน น้ำลายไหลมาก ถ่ายเป็นมูกเลือด ซึม ไม่กินอาหาร และอ่อนแรง บางรายพบภาวะ
ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่มีปัสสาวะ ภายหลังกินไป 24-72 ชั่วโมง บางรายอาจพบภาวะ
ตับอ่อนอักเสบได้แต่ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัดในราย ที่รุนแรงอาจพบภาวะ อุณหภูมิต่ำ หัวใจเต้นเร็ว กดการหายใจ สีลิ้นม่วง และชักได้ในบางเคส

2 ดอกลิลลี่

ลิลลี่เป็นไม้ประดับที่สวยงามแต่เป็นดั่งเพชรฆาตในแมวก่อความเป็นพิษต่อไตอย่างรุนแรง (ยกเว้นในสุนัขและกระต่าย) องค์ประกอบทั้งต้น ก้าน ใบ ดอก และเกสรล้วนเป็นพิษทั้งสิ้น โดยเฉพาะในส่วนของดอก มีรายงานการเกิดความเสียหายในไตของแมว
จากการแค่สัมผัสกับเกสรเท่านั้น ส่วนในสุนัขที่กินดอกลิลลี่เป็นจำนวนมากจะเกิดอาการทางระบบอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสีย อาจพบอุจจาระมีเลือดปน แต่ไม่พบว่าก่อให้เกิดอาการของไตวาย กลไกการออกฤทธิ์ยังไม่เป็นทราบที่แน่ชัด สำหรับอาการหลังกินไปประมาณ 1-6 ชั่วโมงจะแสดงภาวะระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หลัง
จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการอาเจียน ซึม ไม่กินอาหาร จากนั้น 12 -30 ชั่วโมงอาจพบภาวะ ปัสสาวะออกมาปริมาณมากและตามมาด้วยภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงภายหลัง 18 – 30 ชั่วโมง เมื่อเกิดภาวะยูเรียในร่างกายมากขึ้นรุนแรง อาการในแมวอาจพบว่ามีแผลหลุมเกิดในปาก กลิ่นปากรุนแรง พบการโตและเจ็บปวดบริเวณใต้ซี่โครงซี่สุดท้ายได้
บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นชักได้ครับ

3 ยาลดไข้ ยาลดอักเสบกลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์

มักมีรายงานบ่อยว่าสุนัขแอบไปกินกลุ่มยาลดไข้ที่ใช้ในคน ซึ่งส่งผลก่อพิษต่อไตอย่างรุนแรง และยังก่อให้เกิดภาวะระคายเคืองทางเดินอาหารอย่างรุนแรงด้วย ทั้งนี้ ในสุนัขและแมวที่มีภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตต่ อยู่ในช่วงวางยาสลบ หรือการทำงานของไตที่ผิดปกติอยู่แล้วจะเพิ่มโอกาสให้เกิดความเป็นพิษรุนแรงมากขึ้น เมื่อสุนัขกินยาเข้าไปในปริมาณมากทำให้เป็นแผลหลุมในกระเพาะอาหารรุนแรงจนอาจทะลุ เนื่องจากทำให้หลอดเลือดที่เยื่อบุกระเพาะอาหารหดตัว และเกิดการลอกหลุดของเยื่อบุ อาการที่แสดง
ถึงความเป็นพิษอาจเกิดขึ้นได้ทันที ได้แก่ อาเจียน ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง และอาจพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น อ่อนแรง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลง ทำให้
อัตราการกรองที่ไตลดลง และเกิดภาวะไตวายตามมาได้


คราบน้ำตาในสัตว์เลี้ยง

สพ.ญ. ณิชรัตน์ ลาภพัฒนา คุณหมอยุ้ย คุณหมอประจำคลินิกประดิพัทธ์สัตวแพทย์

ปัญหาหมามีคราบน้ำตานั้นสามารถเกิดได้กับสุนัขทุกสายพันธุ์ ซึ่งจะพบมากในสุนัขพันธุ์เล็ก และเห็นได้ชัดในสุนัขขนสีอ่อน แต่จริง ๆ แล้วอาการคราบน้ำตาสุนัขไม่ได้รุนแรงทุกกรณี สามารถดูแลรักษาให้หายได้ คราบน้ำตาสุนัขเกิดจากอะไร? มีวิธีการดูแล รักษา และป้องกันอย่างไรนั้น เลื่อนลงมาเพื่ออ่านตามหัวข้อได้เลยคะ


สาเหตุที่ทำให้เกิดคราบน้ำตาในสัตว์เลี้ยง

1. ปริมาณน้ำตามากกว่าปกติ
สาเหตุจากการกินอาหารที่มีสารสังเคราะห์บางชนิดหรือมีส่วนประกอบของโปรตีนและไขมันสูงจนเกินไป หรือเป็นผลมาจากการใช้ภาชนะที่เป็นพลาสติกมากจนเกินไป ทำให้เกินอาการแพ้ ร่างกายของสุนัขจึงผลิตน้ำตาออกมามากจนเกินไป
เกิดจากการระคายเคือง เช่น การแพ้, การอักเสบที่ดวงตาหรือรอบดวงตา, ขนตาทิ่มตา หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา

  1. ท่อระบาบน้ำตาอุดตัน

สาเหตุจากความผิดปกติโดยกำเนิดมีเมือกอุดตัน หรือ เบ้าตาตื้น หากเบ้าตาไม่ใหญ่หรือลึกพอ ก็อาจเป็นสาเหตุที่น้ำตาไหลออกมาที่ขนรอบดวงตาได้
รูระบายน้ำตาถูกปิดกั้นจากเปลือกตาที่หันเข้าด้านใน หรือหนังตาที่ม้วนเข้าหาลูกตา



ปัญหาคราบน้ำตาของสุนัขสามารถรักษาโดยเราควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุของคราบน้ำตา และทำการรักษาตามสาเหตุ เช่น

หากมีการอุดตันที่ท่อระบายน้ำตา สัตวแพทย์จะทำการสวนล้าง และ/หรือใช้ยาหยอดตา
อาจมีการปรับอาหารหากคราบน้ำตาเกิดจากการแพ้อาหาร หรือส่วนประกอบบางอย่างในอาหาร
หากเป็นที่โครงสร้างของใบหน้าและหนังตาอาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขตามความเหมาะสม



สิ่งที่ทำได้เบื้องต้น

สามารถใช้น้ำอุ่นชุบผ้าขนหนูเพื่อเช็ดคราบน้ำตาของสุนัขได้ ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นอาทิตย์กว่าคราบน้ำตาจะหายไป แต่คราบจะค่อยๆจางลง หรือสามารถใช้น้ำยาเช็ดคราบน้ำตาที่มีอยู่ในท้องตลาดได้
ตัดขนรอบๆดวงตาของสุนัขที่อาจสามารถทำให้ดวงตาเกิดการระคายเคืองได้
หากน้องหมายังชอบเกาตาอยู่ สามารถป้องกันได้ด้วยการใส่ปลอกคอกันเลีย จนกว่าจะได้พบกับสัตวแพทย์
ทั้งนี้การใช้น้ำยาเช็ดคราบน้ำตาอาจเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ อีกทั้งการเปลี่ยนอาหารลดคราบน้ำตาสุนัขนั้นอาจไม่ได้ช่วยรักษาคราบน้ำตาได้ เราควรพาน้องมาพบสัตวแพทย์เพื่อหาต้นเหตุที่แท้จริงและ รักษาคราบน้ำตาน้องหมาอย่างทุกวิธีกันค่ะ


โรคเหงือกร่น(Gum recession)

น.สพ. คมกฤช ลออธนกุล คุณหมอประจำคลินิกประดิพัทธ์สัตวแพทย์


ภาวะเหงือกร่น (Gingival Recession) คืออาการที่เนื้อเยื่อเหงือกบริเวณรอบ ๆ ฟันอ่อนแอลงจนทำให้เนื้อเหงือกค่อย ๆ ร่นเข้าไปหารากฟันและทำให้เห็นตัวฟันมากขึ้น บางรายเนื้อเหงือกอาจร่นไปจนเผยให้เห็นรากฟันทำให้เนื้อฟันสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น และทำให้เกิดคราบหินปูน ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวช่องปากอื่น ๆ ตามมา อาการเหงือกร่นไม่สามารถรักษาให้หาย หรือกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ทำได้เพียงป้องกันเหงือกร่นลงไปอีก นอกจากนี้ สัตว์ป่วยยังควรรักษาอาการเหงือกร่น เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้เกิดความเสียหายของกระดูกฟัน จนทำให้ฟันไม่แข็งแรงและหลุดร่วงไปในที่สุด

โรคเหงือกร่น และมีหินปูนทั่วปากในสุนัข

อาการของเหงือกร่น

อาการของเหงือกร่นที่เห็นได้คือ ลักษณะเหงือกที่เปลี่ยนไป คือเนื้อเหงือกจะร่นลงจนเห็นตัวฟันมากขึ้น หากเป็นมาก ๆ ก็อาจจะทำให้เห็นบริเวณคอฟันหรือรากฟันได้ชัด นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • มีอาการปวดฟัน การกินอาหารลำบาก
  • มีเลือดออกตามขอบเหงือก
  • เหงือกบวมแดง
  • มีกลิ่นปากเหม็น
  • น้ำลายเหนียว ไหลยืด
  • ฟันโยก หรือฟันมีลักษณะดูยาวกว่าปกติ

หากมีอาการเหงือกร่นติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีการรักษาที่ดีพอ ก็จะทำให้บริเวณที่เหงือกร่นกลายเป็นแหล่งสะสมของ เศษอาหาร เชื้อโรคแบคทีเรีย นำมาสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากตามมาได้อย่างง่าย


สาเหตุของเหงือกร่น

เหงือกร่นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ร้ายแรงที่สุดคือเกิดจากโรคปริทันต์ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดเหงือกร่นแล้วยังนำมาสู่ปัญหาอื่น ๆ จนอาจทำให้สูญเสียฟันได้ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดเหงือกร่น ได้แก่

  • การแปรงฟันผิดวิธี การเลือกแปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งมากเกินไป หรือการแปรงฟันแรง ๆ จะส่งผลให้เนื้อเยื่อเหงือกเสียหายและร่นขึ้นไปจนกลายเป็นเหงือกร่นได้
  • สุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี การแปรงฟันไม่สะอาด ก่อให้เกิดหินปูนเกาะระหว่างเหงือกและฟันได้ ซึ่งหากไม่รักษาก็จะทำให้เกิดเหงือกร่นในที่สุด
  • โรคปริทันต์อักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเหงือก จนทำให้อวัยวะที่อยู่รอบตัวฟัน เช่น กระดูกรอบ ๆ รากฟันถูกทำลายจนมีขนาดลดลง เป็นสาเหตุทำให้เหงือกร่นตามลงมาด้วย
  • พันธุกรรม ลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างที่ถ่ายทอดกันมาอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับเหงือกได้

การวินิจฉัยอาการเหงือกร่น

อาการเหงือกร่นในเริ่มแรกอาจยากจะสังเกตเห็นได้ เนื่องจากอาการนี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย แต่หากอาการเริ่มมากขึ้น สัตวแพทย์จะสังเกตเห็นลักษณะเหงือกที่ร่นลงไปที่โคนฟันได้มากขึ้น ต้องรีบดำเนินการรักษาก่อนที่เนื้อฟันจะเสียหายจากการติดเชื้อสะสม และหินปูนเกาะ

การรักษาเหงือกร่น

การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดเหงือกร่น แต่ทั้งนี้เหงือกที่เสียหาย จะไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ทำได้เพียงรักษาเหงือกที่เหลืออยู่ไม่ให้ร่นลงไปมากกว่าเดิม และป้องกันอาการแทรกซ้อนที่ส่งผลให้เกิดโรคปริทันต์อื่น ๆ ในบางกรณีอาจต้องรีบจัดการรักษาโรคเหงือกโดยการผ่าตัดเพื่อการรักษาที่ตรงจุด โดยในระหว่างการรักษาสัตว์ป่วยจะต้องรักษาความสะอาดของช่องปากให้มากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาภายในช่องปากซ้ำซ้อน

การรักษาตามสาเหตุการเกิดควรปฏิบัติดังนี้

  • เกิดจากพฤติกรรมการแปรงฟันที่ผิดหรือไม่รักษาความสะอาดช่องปาก ในกรณีที่พบว่าสาเหตุเกิดจากการแปรงฟันแรง ๆ คุณหมอจะแนะนำวิธีการแปรงฟันใหม่ให้เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งสัตว์ป่วยควรปฏิบัติตามเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น และควรแปรงฟันเป็นประจำเพื่อรักษาความสะอาดลดการติดเชื้อในช่องปากได้
  • เกิดจากโรคปริทันต์ ในเบื้องต้นสัตวแพทย์จะขูดหินปูนและทำความสะอาดรากฟัน เพื่อขจัดคราบหินปูนที่เกาะตามฟันออก ซึ่งจะช่วยให้เนื้อเยื่อเหงือกแนบสนิทกับฟันอีกครั้ง และหากมีอาการอักเสบของเหงือก คุณหมอผู้เชี่ยวชาญอาจใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยเพื่อรักษาการอักเสบให้หาย ซึ่งสัตว์ป่วยจะต้องใช้ยาตามที่กำหนด และรักษาความสะอาดของช่องปากให้มากขึ้นเป็นพิเศษ

หากเจ้าของท่านใดสงสัยอาการ และลองเปิดปากน้องหมาน้องแมวของเราแล้วสงสัยมีภาวะเหงือกร่น สามารถพามาพบคุณหมอแผนกโรคช่องปากเพื่อให้การรักษา และคำแนะนำที่คลินิกได้นะคะ


การขูดหินปูนแบบไม่วางยาสลบ ไม่มีความเสี่ยง ไม่ต้องเตรียมตัว สามารถทำได้เลย สนใจนัดคิวได้นะคะ

เนื้องอกในสุนัข

โดย น.สพ. คมกฤช ลออธนกุล สัตวแพทย์ประจำคลินิกประดิพัทธ์สัตวแพทย์

เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุมากขึ้น มักจะเกิดมีเซลล์ผิดปกติ เจริญเติบโตในร่างกายของสัตว์เลี้ยง ซึ่งเหล่านี้มีโอกาสเป็นได้ทั้งเนื้องอก หรือเกิดขึ้นรุนแรงจนเป็นเนื้อมะเร็งได้ครับ

ความแตกต่างระหว่างเนื้องอก กับเนื้อมะเร็ง

มะเร็ง หรือ มะเร็งสุนัข (cancer หรือ malignant tumor) เป็นคำศัพท์ที่ใช้อธิบายโรคที่เกิดขึ้นจากเนื้องอก (tumor หรือ neoplasm) ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์ที่ผิดปกติที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องในร่างกายโดยไม่หยุด ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และมีแนวโน้มลุกล้ำอวัยวะข้างเคียง แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ระบบเลือดและระบบน้ำเหลือง

ส่วนเนื้องอกที่ไม่ได้มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น และไม่ได้มีการลุกล้ำไปยังอวัยวะข้างเคียง ภาษาอังกฤษเรียกว่า benign tumor


5 ชนิดเนื้องอก ที่พบได้บ่อยในสุนัข

1.เนื้องอกก้อนไขมัน (Lipoma)

เป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรงและพบได้ตามปกติในสุนัข วัยกลางสุนัขจนถึงวัยชรา พบในเพศเมียมากกว่าเพศผู้และพบในสุนัขอ้วนมากกว่าสุนัขที่มีน้ำหนักตัวปกติ สามารถพบได้ในทุกพันธุ์ มีรายงานว่าพบในพันธุ์ที่อุบัติการของโรคสูง ได้แก่ Labrador Retrievers, Doberman pinschers, miniature schnauzers,  Cocker Spaniels dachshunds, Weimaraners ตามปกติจะพบเนื้องอกก้อนไขมันในชั้นใต้ผิวหนังลักษณะเป็นก้อนกลมหรือรีที่นุ่ม โดยส่วนใหญ่จะพบเป็นก้อนเดี่ยวที่ขาและใต้รักแร้ เนื่องจากเนื้องอกชนิดนี้มักจะโตช้ามากและไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่นทำให้ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำการผ่าตัดรักษายกเว้นในกรณีที่เนื้องอกเข้าไปอยู่ในบริเวณที่ทำให้สุนัขเดินเหินได้ลำบากเช่น ซอกรักแร้ ขาหนีบ


2.เนื้องอกที่อวัยวะเพศ (Transmissible venereal tumor : TVT)

อีกชื่อคือ venereal granuloma หรือ VG ในเมืองไทยเรียกกันง่ายๆ ว่า ทีวีที หรือ วีจี พบมากในกลุ่มสุนัขจรจัด ซึ่งจะเห็นสุนัขป่วยลักษณ์นี้ได้บ่อยตามเพจระดมทุนต่างๆ  เนื้องอกชนิดนี้ติดต่อด้วยการผสมพันธุ์และการเลียบริเวณอวัยวะเพศของสุนัข ลักษณะที่พบคือเนื้องอกสีขาวอมชมพูคล้ายกับดอกกะหล่ำที่บริเวณอวัยวะเพศทั้งเพศผู้และเพศเมีย บางครั้งมีเลือดออก การเลียอวัยวะเพศทำให้เกิดการติดเนื้องอกเข้าไปที่บริเวณใบหน้า โพรงจมูก ปาก

การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยง่ายโดยการตรวจเซลล์หรือตรวจชิ้นเนื้อ การรักษาหลักคือใช้วิธีการทำเคมีบำบัดทุกอาทิตย์ต่อเนื่องกัน 6-8 อาทิตย์ ในกรณีที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มากอาจจะทำร่วมกับการผ่าตัดด้วยก็ได้ การพยากรณ์โรคดี นั่นคือมีโอกาสประสบความสำเร็จในการรักษาสูงมาก ยกเว้นตัวที่มีการลามไปบริเวณใบหน้า โพรงจมูกและต่อมน้ำเหลือง ซึ่งอาจจะต้องทำการฉายแสงเพื่อทำการรักษา


3.เนื้องอกเต้านม (mammary gland tumor)

ถือว่าเป็นเนื้องอกชนิดที่พบบ่อยมากที่สุดชนิดหนึ่งในประเทศไทยโดยเฉพาะทางเพจโดยระดมทุนเพื่อช่วยเหลือหมาจรจัด 50% ของเนื้องอกชนิดนี้จะเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง อีก 50% ที่เหลือจะเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดา ในกรณีที่เป็นมะเร็งมักจะมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ปอด ระบบประสาท เป็นต้น เนื้องอกชนิดนี้พบมากในสุนัขเพศเมียที่ยังไม่ได้ทำหมัน การรักษาสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้องอก ซึ่งอาจทำร่วมกับเคมีบำบัด หรือฉายแสงได้ การพยากรณ์โรคถือว่าดีมีโอกาสหายโดยเฉพาะเนื้องอกที่ไม่เป็นมะเร็ง หรือในกรณีที่ผลเนื้องอกที่ได้เป็นมะเร็งแต่มีขนาดเล็กกว่า 5 เซนติเมตร ถ้าสามารถตัดออกได้หมด การพยากรณ์โรคก็ถือว่าดี

เจ้าของสุนัขสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นเนื้องอกชนิดนี้ได้โดยการทำหมันสุนัขเพศเมีย โดยเฉพาะการทำหมันก่อนการเป็นสัตว์หนแรก โอกาสเกิดเนื้องอกชนิดนี้จะมีเพียง 0.5% ถ้าไม่ได้ทำหมันสุนัขก่อนการเป็นสัตว์ครั้งแรก คุณหมอก็ยังแนะนำให้ทำหมันช้าที่สุดคือหลังการเป็นสัตว์ครั้งที่ 2 แต่ก่อนอายุ 2.5 ปี โดยการทำหมัน หลังการเป็นสัตว์ครั้งที่ 2 นั้นมีโอกาสเกิดโรคเพียง 26% เเต่ถ้าทำหมันหลัง 2.5 ปี จะไม่มีผลการลดอุบัติการณ์การเกิดโรคเลย


4.มะเร็งของเซลล์ผนังหลอดเลือด (Hemangiosarcoma)

(อ่านว่า ฮีแมงจิโอซาร์โคมา) โรคนี้เป็นมะเร็งของเซลล์ผนังหลอดเลือด ซึ่งสามารถจะเกิดได้ที่บริเวณม้าม ตับ หัวใจและผิวหนัง สำหรับมะเร็งที่พบบ่อยในม้ามและตับนั้นมักจะเจอในพันธุ์ German shepherds, Boxers, Great Danes, English Setters, Golden Retrievers, Pointers สุนัขพันธุ์ไทยและพันธุ์บางแก้วก็สามารถพบมะเร็งชนิดนี้ได้ อาการที่มักจะพบได้แก่ เหงือกซีด หัวใจเต้นเร็ว ช่องท้องด้านหน้าขยายขนาด คลำพบของเหลวภายในช่องท้องซึ่งเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งเเตกและเลือดไหลในช่องท้องซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างกระทันหัน

การวินิจฉัยสามารถทำได้ด้วยการเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ช่องท้อง เจาะดูดเอาของเหลวออกมาตรวจ CT-scan และการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเข้าไปตัดก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็งออก การตรวจพบก้อนที่ม้ามซึ่งสงสัยว่าเป็นมะเร็งชนิดนี้ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน คุณหมอจะแนะนำให้ทำการเข้ารับการผ่าตัดทันทีเพราะมีความเสี่ยงที่มะเร็งจะแตกแล้วตกเลือดในช่องท้องจนเสียชีวิตได้ การพยากรณ์โรคของมะเร็งชนิดนี้ไม่ดี ในกรณีที่ทำการผ่าตัดอย่างเดียว โอกาสรอดชีวิตหลังจะผ่าตับโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5 ถึง 3 เดือน และมีเพียง 10% เท่านั้นที่จะอยู่รอดจนถึง 1 ปีหลังจากผ่าตัด ในกรณีที่ทางการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัดโอกาสรอดชีวิตหลังผ่าตัดมีสูงถึง 3 ถึง 6เดือน


5.มะเร็งกระดูก (Osteosarcoma)

เป็นเนื้อร้ายที่พบมากโดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ใหญ่และพันธุ์ยักษ์ เช่น Boxer, Doberman pinchers, Golden Retrievers, German shepherd, Great Danes, Great Pyrenees Greyhounds, Irish settlers, Irish wolfhounds, Labrador retrievers, Rottweiler, Saint Bernards Weimeraners มะเร็งชนิดนี้มักจะพบที่กระดูกขาทั้งหน้าและหลังโดยเฉพาะกระดูกที่เป็น long bones หรือกระดูกท่อนยาวเทียบได้กับแขนและขาในคน อาการที่พบคือการบวมบริเวณกระดูกขา ดังนั้นก้อนบวมนี้จะแข็งเหมือนกับกระดูกหรือหิน ไม่ได้เป็นก้อนบวมที่มีความนิ่ม สุนัขจะมีอาการเจ็บขาและกะเพลก มะเร็งชนิดนี้มักจะมีการกระจายตัวไปที่ต่อมน้ำเหลืองและปอด การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการเอกซเรย์ที่บริเวณขา ช่องอกร่วมกับการตรวจเซลล์

การรักษาสามารถใช้หลายวิธีผสมผสานกันโดยวิธีหลักคือการตัดกระดูกที่มีมะเร็งออกไป นั่นก็คือการตัดขานั่นเอง สัตวแพทย์จะทำการตัดขาที่มีมะเร็งออกร่วมกับการใช้เคมีบำบัดหรือการใช้แสงควบคู่ไปด้วยเพื่อลดการแพร่กระจายของมะเร็ง การพยากรณ์โรคไม่ดีเท่าไหร่เนื่องจากแม้ทำการรักษาเต็มที่แล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูง


จากบทความนี้เราจะเห็นว่าเนื้องอกหรือมะเร็งหลายชนิด จะต้องใช้มากกว่าหนึ่งวิธีในการรักษาเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด หมอเชื่อว่าหมอทุกคนต้องการสู้เพื่อสัตว์เลี้ยงทุกตัวที่ดูแลอยู่ น้องหมาทุกตัวก็สู้เพื่อชีวิตตัวเองเต็มที่ เจ้าของละครับ พร้อมที่จะสู้กับมะเร็งเหล่านี้ไปพร้อมๆกันไหม ถ้าใครที่อ่านบทความนี้มีน้องหมาที่ป่วยด้วยโรคเนื้องอกต่างๆ หมอก็ขอให้น้องหายป่วยไวๆ นะครับ


การแปรงฟันในสัตว์เลี้ยงสำคัญยังไง

โดย น.สพ. คมกฤช ลออธนกุล (คุณหมอประจำคลินิกประดิพัทธ์สัตวแพทย์)


ปัญหาที่พบได้บ่อยเรื่องหนึ่งในสัตว์เลี้ยง คือปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน นอกจากที่ส่วนใหญ่จะเกิดในน้องหมาสายพันธุ์เล็กและน้องหมาที่มีหน้าสั้นแล้ว ยังมีน้องหมาอีกกลุ่มหนึ่งที่มักพบปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน นั่นก็คือ  น้องหมาที่ผู้เลี้ยงมักจะให้อาหารชนิดเปียก อาหารกระป๋อง หรืออาหารปรุงสุกอยู่เป็นประจำ ซึ่งอาหารเหล่านี้มักจะหลงเหลือเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟันของน้องหมา ทำให้มีการสะสมของเชื้อแบคทีเรียและแคลเซียมที่บริเวณฟันจนเกิดเป็นหินน้ำลาย และหากไม่มีการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี หินน้ำลายจะเกิดการก่อตัวเป็นหินปูนเกาะตามฟันซี่ต่าง ๆ เมื่อเชื้อแบคทีเรียมากขึ้นจะส่งผลให้เนื้อเยื่อปริทันต์อักเสบ เกิดการทำลายเยื่อบุผิวฟันและเนื้อเยื่อรอบฟัน รวมทั้งทำให้เกิดการสลายของกระดูกเบ้าฟัน ในรายที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อปริทันต์รุนแรงอาจทำให้กรามหัก หรือเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ ตับ ไต ฯลฯ และเสียชีวิตได้ในที่สุด


ดังนั้น ช่องปากและฟันของน้องหมาถือเป็นอวัยวะส่วนสำคัญที่มักก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะในน้องหมากลุ่มเสี่ยงอย่าง น้องหมาสายพันธุ์เล็ก  เช่น ชิวาวา ยอร์คเชียร์เทอร์เรีย ชิสุ ฯลฯ ที่โดยธรรมชาติจะมีอายุยืนกว่าน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่ รวมถึงน้องหมาพันธุ์หน้าสั้น เช่น ปั๊ก บอสตันเทอร์เรีย อิงลิช บูลด็อก ฯลฯ  ที่มักมีการเรียงตัวของคราบอาหารที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของโรคช่องปากและฟันในน้องหมา

     หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่อยากให้น้องหมาเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน ผู้เลี้ยงต้องใส่ใจดูแล และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันปัญหาเหล่านี้คือ  การไม่ละเลยการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ด้วยการทำความสะอาดฟันน้องหมาด้วยการแปรงฟันและลิ้นให้น้องหมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการแปรงฟันจะช่วยชะลอการเกิดคราบหินปูน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นปาก และโรคปริทันต์ในน้องหมา


ขั้นตอนการแปรงฟันให้น้องหมา
 

      การแปรงฟันให้น้องหมาไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ เพียงแต่ผู้เลี้ยงต้องใส่ใจรายละเอียดกันสักหน่อยโดยเริ่มจาก

1. ในช่วงสัปดาห์แรก ให้น้องหมาสำรวจ ดม และชิมยาสีฟันในปริมาณน้อยจนคุ้นเคยกับกลิ่นและรสชาติก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ บีบยาสีฟันใส่นิ้วชี้ แล้วค่อย ๆ ถูกฟันน้องหมาเบา ๆ โดยอาจจะชวนน้องหมาพูดคุย ชื่นชม หรือปลอบให้น้องหมารู้สึกผ่อนคลาย และเพิ่มความเชื่อมั่นว่ายาสีฟันไม่ได้เป็นอันตรายกับน้องหมา และไม่ต่อต้านการแปรงฟัน

2. หลังจากน้องหมาเริ่มเคยชินกับยาสีฟันแล้ว ก็เปลี่ยนจากนิ้วเป็นแปรงสีฟันสำหรับน้องหมา และเริ่มแปรงฟันน้องหมาด้วยการยกริมฝีปากด้านบนขึ้นเพื่อแปรงฟันบน โดยแปรงวนบริเวณรอยต่อระหว่างเหงือกและฟันแล้วปัดลง เพื่อเอาเศษอาหารที่อยู่ระหว่างร่องเหงือกออก และทำเช่นเดียวกันนี้กับฟันล่างคือ แปรงวนบริเวณรอยต่อแล้วปัดขึ้นทีละด้านจนครบทั้งปาก โดยการแปรงทั้งปากไม่ควรเกิน 1 นาที เพื่อให้น้องหมาไม่เบื่อครับ

3. หลังจากแปรงเสร็จแล้วอย่าลืมให้รางวัลกับน้องหมาโดยการลูบหัว ชื่นชม ให้ขนม (ควรเลือกเป็นขนมชนิดที่ช่วยขัดฟันให้น้องหมา) เพื่อให้น้องหมารู้ว่า การยอมให้แปรงฟันคือสิ่งที่น้องหมาทำถูกต้อง และเป็นสิ่งที่ดีแล้วครับ



โรคข้อเสื่อมในแมว

โดย สพ.ญ. ณิชรัตน์ ลาภพัฒนา (หมอยุ้ย คุณหมอประจำคลินิกประดิพัทธ์สัตวแพทย์)

โรคข้อเสื่อมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรัง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในแมว และทำให้เกิดพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการจัดการโรคข้อเสื่อมในแมวจึงเป็นการจัดการอาการเจ็บปวดแบบเรื้อรังได้คะ

อาการและการวินิจฉัยของโรค


การวินิจฉัยโรคข้อเสื่อมในแมวเป็นเรื่องที่ท้าทาย การสังเกตอาการเจ็บขาทำได้ยากเนื่องจากแมวมีขนาดตัวเล็กและเก็บซ่อนอาการง่าย เมื่อเกิดปัญหาของโรคกระดูกและข้อ การตรวจร่างกายในแมวจึงทำได้ยากกว่าในสุนัข การสับสนระหว่างความเจ็บปวดหรือเป็นการต่อต้านการตรวจ แมวมักคลานต่ำหรือไม่เคลื่อนไหวเมื่ออยู่ในห้องตรวจ การสังเกตพฤติกรรมจากที่บ้าน และการลดการเคลื่อนไหวจากเจ้าของที่ให้ความร่วมมือช่วงสังเกตน้องแมวอย่างใกล้ชิด จึงมีความสำคัญในการวินิจฉัย โรคข้อเสื่อมในแมว ความผิดปกติของข้อต่อที่มีปัญหาไม่ชัดเจนเหมือนในสุนัข เช่น มักไม่พบการลดลงของพิสัยข้อหรือเสียงขัดสีที่ผิดปกติภายในข้อต่อ แต่มักพบการหนาตัวของเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อที่มีปัญหา อาการที่พบในแมวที่เป็นข้อเสื่อม ได้แก่ นำ้หนักตัวลดลง กินอาหารได้ลดลง
ซึมความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ น้อยลง เช่นการเลียแต่งขนตัวเองลดลง ไม่ขับถ่ายในกระบะทรายการสำรวจและการเข้าสังคมลดลงนะคะ

การเปลี่ยนแปลงของภาพรังสีในแมวที่เป็นข้อเสื่อมไม่รุนแรงเหมือนในสุนัข
และมักไม่พบการเปลี่ยนแปลงของภาพรังสีในแมวที่เป็นโรคข้อเสื่อม
ข้อต่อที่พบการเสื่อม ได้แก่ ข้อสะโพก ข้อเข่า

แนวการรักษา

การรักษามี 3 แนวการรักษา คือ การรักษาไม่ใช้ยา กับการรักษาทางยา และการรักษาทางเลือกอื่นๆ

การรักษาโดยไม่ใช้ยา (non-drug treatment)
การควบคุมน้ำหนักตัว แมวที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป มักพบการ
เจ็บขาซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคข้อเสื่อม การลดน้ำหนักโดยการควบคุม
อาหารหรือปรับสูตรอาหารเพื่อลดน้ำหนักจะทำให้แมวเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น


การปรับสภาพแวดล้อม เสริมความน่าอยู่ของสภาพแวดล้อมที่เลี้ยง เป็นการส่งเสริมให้แมวไม่เครียด แสดงพฤติกรรมได้ตามปกติ เพื่อเป็นการกระตุ้นทางร่างกายและจิตใจ มีผลในการลดความเจ็บปวดและความเครียด ทั้งยังเพิ่มการทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวร่างกายของสัตว์ การปรับสภาพแวดล้อมการเลี้ยง เช่น การใช้บันไดหรือทางลาดจะช่วยให้แมวสามารถเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น ทำให้ลดความเครียดและความกังวลลงได้ ส่งผลให้ลดความเจ็บปวดลงได้คะ

อาหารหรืออาหารบำบัดโรค เช่น การเสริม omega-3 fatty acid
เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่สามารถผลิต omega-3 และ
omega-6 fatty acid ได้ จึงต้องเสริม omega-3 fatty acid เช่น krill oil หรือ fish oil
มีผลในการลดการอักเสบและลดปวดในแมวได้คะ

การรักษาโดยการใช้ยา (Drug treatment)
มียาหลายชนิดที่สามารถลดอาการปวดหรือเจ็บขาได้ในแมว ทั้งยาลดปวดและลดอักเสบ แต่ยาเหล่านี้ก็ผลข้างเคียงของยาหลายอย่าง คือ อาการทางระบบ
ทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร ยังไม่มีรายงานการ
เกิดความเป็นพิษต่อตับและไตเมื่อให้ในระยะยาว ดังนั้นควรปรึกษากับสัตวแพทย์และปรับการใช้ยาให้เหมาะสมกับแมวแต่ละตัวเพื่อคุณภาพชีวิตของน้องแมวดีขึ้นนะคะ

การรักษาทางเลือกอื่นๆ

การฝังเข็ม เชื่อว่าสามารถลดความเจ็บปวดในแมวได้

การนวด เพื่อคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดความเครียด ลดการปวดได้

การใช้เลเซอร์ ช่วยในกรณีที่มีการปวดกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการเจ็บปวดบริเวณข้อต่อ